ศีลอภัยบาป (Penance) ของ ศีลศักดิ์สิทธิ์

ศีลอภัยบาป (Penance) หรือศีลสารภาพบาป (Confession) เป็นการคืนดีกับพระและเพื่อนพี่น้อง มีความเสียใจ และตั้งใจที่จะกลับคืนดี เริ่มต้นชีวิตใหม่ในพระหรรษทานของพระเจ้า

ศีลในข้อนี้เป็นการยกบาปที่ได้กระทำแล้ว หลังจากที่ทำการรับศีลล้างบาปมาแล้ว ผู้ที่มีอำนาจยกบาปให้ได้ต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่งระดับมุขนายก (Bishop) หรือบาทหลวงที่ได้รับมอบอำนาจจากมุขนายก ถ้ายังชำระหรือชดใช้ไม่หมดก็ต้องไปใช้ในโลกหน้าในแดนชำระ

ผู้ที่จะเข้ารับศีลมหาสนิทหากมีบาปอยู่ต้องแก้บาปก่อน จึงจะเข้ารับศีลมหาสนิทได้ โดยการบอกบาปของตนแก่บาทหลวงเพื่อว่าท่านจะได้ยกบาปให้ ในการสารภาพบาปนี้นิยมกระทำในห้องเล็ก ๆ ซึ่งจัดไว้ด้านข้างของโบสถ์ ภายในห้องเล็กมีม่านหรือฉากกั้นกลาง บางแห่งทำเป็นฝาปรุไว้เพื่อให้ได้ยินเสียงโดยไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าผู้สารภาพบาป ผู้สารภาพบาปและบาทหลวงจะเข้ามาคนละด้านของห้อง เมื่อสารภาพแล้วบาทหลวงคาทอลิค จะกล่าวว่า "พระจิตได้รับบาปของท่านแล้ว บาปที่ท่านทำให้แก่ผู้อื่นก็ได้ยกโทษให้แล้ว" หลังจากนั้นผู้สารภาพแล้วจะต้องพยายามไม่ทำบาปที่ตนทำไว้ และจะต้องตั้งใจมั่นที่จะไม่กระทำผิดต่อพระเจ้าอีกต่อไป

การชดใช้บาปนั้น อาจารย์กีรติ บุญเจือ (2530 : 97) ได้กล่าวว่า เป็นการเสริมแต่งคุณภาพชีวิตเพื่อให้ชีวิตพระเจ้าพัฒนายิ่งขึ้นตามลำดับทั้งในตนเองและผู้อื่น กิจการชดใช้บาปที่บาทหลวง กำหนดนั้น อาจเป็นการสวดบทบางบท หรือให้ทำดีอะไรบางอย่างตามแต่สะดวกและใจรัก แต่ถ้าเป็นการชดใช้ความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์จะต้องชดใช้ให้อย่างยุติธรรม มิฉะนั้นจะไม่พ้นบาปได้ การชดใช้บาป จึงเป็นการเปิดประตูเข้าสู่ชีวิตใหม่ที่ตนเองจะต้องวางแผนชีวิตโดยอาศัยคำแนะนำจากผู้รู้ เพื่อให้ชีวิตของตนนั้น สามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่อาจสารภาพบาปเป็นส่วนตัวได้ เช่น คนไข้ พูดไม่ได้ เครื่องบินกำลังตก เรือกำลังล่ม หรือกำลังติดอยู่ในตึกที่ไฟไหม้ บาทหลวงจะอภัยบาปให้ทันที คนที่อยู่ในสภาพจำเป็นนี้หากมีบาปแม้แต่นิดเดียวก็ได้รับการอภัยบาปทันทีโดยไม่ต้องมีพิธีอะไรเพิ่ม แต่ถ้ารอดชีวิตไปได้และมีโอกาสสารภาพบาปได้เมื่อใด จะต้องสารภาพทันทีกับบาทหลวงรูปใดก็ได้ทั้งนั้น

ผลของศีลอภัยบาปคือ ทำให้ผู้รับได้กลับคืนดีกับพระ และอยู่ในชีวิตพระหรรษทาน สำนึกถึงความรักของพระ และตั้งใจที่จะปรับปรุงแก้ไข เริ่มต้นใหม่ให้สมกับความเป็นลูกของพระในความครบครัน เป็นอิสระจากบาป มีความบริสุทธิ์ และมีสันติในจิต

พิธีสารภาพบาปนี้ ได้แบบอย่างมาจากพระจริยวัตรของพระเยซูเมื่อครั้งไปรักษาโรคให้แก่คนเป็นโรคเรื้อน และคนตาบอด คนเหล่านี้เมื่อได้รับการอภัยโทษจากพระเยซูแล้วก็หายจากโรคร้ายและคนตาบอดได้กลายเป็นคนตาดี การรักษาโรคของพระเยซู ก็คือ การใช้อำนาจจิตที่เต็มไปด้วยความรักและความเมตตาอันยิ่งใหญ่แก่คนทุกข์ยากเหล่านั้น เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่มีบาปอันกระทำไว้แล้ว จึงถูกพระเจ้าลงโทษ และพระเยซูซึ่งเป็นพระเจ้าตามความเชื่อของชาวคริสต์สามารถยกบาปให้ได้เพียงกล่าวแก่คนบาปเหล่านั้นว่า บาปของเจ้า เราได้ยกโทษให้แล้ว นับแต่นั้นมาการสารภาพบาปเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญยิ่ง

ศีลอภัยบาป เป็นศีลที่อภัยบาปของมนุษย์ เมื่อได้ทำผิดพลาดไป ไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน เพื่อจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ตามที่สัญญาไว้ในตอนรับศีลล้างบาป พระศาสนจักรได้รับอำนาจยกบาปจากพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสกับนักบุญเปโตรว่า "เปโตร ท่านคือศิลา บนศิลานี้เราจะสร้างศาสนจักรของเราไว้ แม้แต่ความตายก็ไม่อาจจะเอาชนะศาสนจักรของเราได้ เราจะมอบกุญแจเข้าอาณาของพระเจ้าให้ท่านไว้ สิ่งใดที่ท่านห้ามในโลกนี้ก็จะถูกห้ามในสวรรค์ และสิ่งใดที่ท่านอนุญาตในโลกนี้ก็จะได้รับอนุญาตบนสวรรค์ด้วย" (มธ.16:16-20 , ยน.20:19-23)